หน้าหลัก

เกี่ยวกับเรา

บุคลากร

การเรียนการสอน

งานวิจัย

ข่าวและกิจกรรม

สำหรับประชาชน

สำหรับเจ้าหน้าที่

Language

Social Media

User Account

ประวัติความเป็นมา

ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เริ่มก่อตั้งและได้เปิดสอนเป็นปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2490 โดยสังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ขึ้นกับกระทรวงสาธารณสุข ต่อมา พ.ศ. 2502 ได้โอนมาขึ้นกับทบวงมหาวิทยาลัยแห่งรัฐ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2510 จึงได้โอนมาขึ้นกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สังกัดทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบัน สังกัดคณะกรรมการ การอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ

สำหรับการเริ่มต้นก่อตั้งภาควิชาอายุรศาสตร์ ได้มีการเตรียมงานมาตั้งแต่ พ.ศ. 2491 แต่ที่ถือว่าเป็นการเริ่มต้นงานของภาควิชาอายุรศาสตร์ในส่วนที่เป็นหน่วยงานหนึ่งของโรงเรียนแพทย์ คือเมื่อนักศึกษาแพทย์(เมื่อโอนมาสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงใช้คำเรียกเป็น “นิสิตแพทย์” ) ขึ้นมาปฏิบัติงานทางคลินิก ณ ฝ่ายอายุรศาสตร์ (ในสมัยนั้นเรียกว่า แผนกอายุรกรรม) เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2493 ขณะนั้นมี พอ.หลวงประกิตเวชศักดิ์ เป็นหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์เป็นท่านแรก และมีอาจารย์ที่สังกัดคณะแพทยศาสตร์เพียง 3 ท่าน คือ พ.ต.นพ. ทวี ตุมราศวิน นพ.บุญเลี้ยง ตามไท และ นพ.ประญัติ ลักษณะพุกก์ ร่วมกับแพทย์ ประจำของสภากาชาดไทยเป็นอาจารย์พิเศษ ช่วยกันทั้งด้านการรักษาพยาบาล และการสอนนิสิตแพทย์

ต่อมาเพื่อให้เกิดความสะดวกในการทำงานร่วมกันจึงแต่งตั้งให้อาจารย์แพทย์ที่สังกัดคณะแพทยศาสตร์ เป็นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สังกัดสภากาชาดไทยด้วย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2495 จึงมีแพทย์ที่สำเร็จจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นรุ่นแรกและบรรจุเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ในภาควิชาอายุรศาสตร์หนึ่งท่าน คือ รองศาสตราจารย์นายแพทย์ยาใจ ณ สงขลา ทำงานในระบบวิชาโรคทางการหายใจนับเป็นยุคเริ่มต้น ในการบุกเบิกหน่วยงานของภาควิชาอายุรศาสตร์

หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์

แพทย์ที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมีรายนาม ดังนี้

  1. พ.อ.หลวงประกิตเวชศักดิ์   (9 เมษายน 2491 - 25 ตุลาคม 2503)
  2. ศาสตราจารย์นายแพทย์ทวี ตุมราศวิน   (26 ตุลาคม 2503 - 28 กุมภาพันธ์ 2517)
  3. ศาสตราจารย์นายแพทย์ศิระ สิริสัมพันธ์   (1 มีนาคม 2517 -22 กุมภาพันธ์ 2521)
  4. รองศาสตราจารย์นายแพทย์ยาใจ ณ สงขลา   (23 กุมภาพันธ์ 2521-28 กุมภาพันธ์ 2424)
  5. ศาสตราจารย์นายแพทย์โชติบูรณ์ บูรณเวช   (1 มีนาคม 2524 -27 กุมภาพันธ์ 2526)
  6. ศาสตราจารย์แพทย์หญิงคุณหญิงศรีจิตรา บุนนาค   (28 กุมภาพันธ์ 2526 - 27 กันยายน 2530)
  7. รองศาสตราจารย์นายแพทย์สัจพันธ์ อิศรเสนา ฯ   (28 กันยายน 2530 - 31 สิงหาคม 2533)
  8. ศาสตราจารย์นายแพทย์วิศิษฏ์ สิตปรีชา   (1 กันยายน 2533 - 31 สิงหาคม 2537)
  9. ศาสตราจารย์นายแพทย์ชัยเวช นุชประยูร   (1 กันยายน 2537 - 31 สิงหาคม 2541)
  10. รองศาสตราจารย์นายแพทย์พินิจ กุลละวณิชย์   (1 กันยายน 2541 - 31 สิงหาคม 2545)
  11. รองศาสตราจารย์นายแพทย์วิทยา ศรีดามา   (1 กันยายน 2545 – 31 สิงหาคม 2549)
  12. ศาสตราจารย์นายแพทย์กัมมันต์ พันธุมจินดา   (1 กันยายน 2549 – 31 สิงหาคม 2553)
  13. ศาสตราจารย์นายแพทย์ธานินทร์ อินทรกำธรชัย   (1 กันยายน 2553 – 31 สิงหาคม 2557)
  14. ศาสตราจารย์นายแพทย์สมชาย เอี่ยมอ่อง   (1 กันยายน 2557 – 31 สิงหาคม 2560)
  15. ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร   (1 กันยายน 2560 – 31 สิงหาคม 2564)
  16. ศาสตราจารย์นายแพทย์วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์   (1 กันยายน 2564 – ปัจจุบัน)

ด้านการเรียนการสอนในระยะเริ่มแรก นอกจากมีอาจารย์ของคณะแพทยศาสตร์ และแพทย์ของสภากาชาดไทยร่วมกันสอนแล้ว ได้มีการเชิญอาจารย์แพทย์จากสถาบันอื่น และแพทย์ชาวต่างประเทศมาช่วยสอนให้กับนิสิตแพทย์ แพทย์ฝึกหัด (Intern) และแพทย์ประจำบ้าน (Resident) การจัดการเรียนการสอนมีทั้งการบรรยาย (Lecture), การสอนข้างเตียง (Ward round) รูปแบบการจัดการเรียนการสอนได้ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์และความเหมาะสม จนกระทั่ง ในปัจจุบันมีนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 4, 5 และ 6 ขึ้นเรียนบรรยายและฝึกปฏิบัติการ จำนวนชั้นปีละประมาณ 200 คน/ปี

ในปีการศึกษา 2515 ได้เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก สาขาวิชาอายุรศาสตร์ ระยะเวลาการศึกษา 1 ปี ให้แพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 1 เพื่อลงทะเบียนเรียน และเมื่อฝึกอบรมในหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านครบ 3 ปีแล้ว แพทย์ประจำบ้านจะมีสิทธิ์สมัครสอบเพื่อขอรับวุฒิบัตรความรู้ความชำนาญวิชาชีพเวชกรรม สาขาอายุรศาสตร์ สาขาประสาทวิทยา สาขาอายุรศาสตร์โรคเลือด และสาขาตจวิทยา จากแพทยสภา ปัจจุบันมีแพทย์ประจำบ้านที่เข้าฝึกอบรมสาขาอายุรศาสตร์ ณ ภาควิชาอายุรศาสตร์ ประมาณปีละ 52 คน

ในปี พ.ศ. 2525 ภาควิชาอายุรศาสตร์ ได้เริ่มให้มีการประชุมวิชาการ เพื่อเผยแพร่ความรู้ใหม่ๆ ในวงการแพทย์ ซึ่งมีการพัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้อายุรแพทย์ แพทย์เวชปฏิบัติ ที่ไม่สามารถเข้ารับการฝึกอบรมต่อเนื่องได้รับการถ่ายทอดความรู้ที่ทันยุคทันสมัย และมีโอกาสซักถามปัญหาจากอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่าง ๆ ของภาควิชาอายุรศาสตร์ โดยจัดการอบรมอายุรศาสตร์ระยะสั้น เป็นระยะเวลา 5 วัน ในกลางเดือนสิงหาคม และดำเนินการเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ นอกจากนั้นภาควิชาอายุรศาสตร์ ได้ยังมีการส่งเสริมการจัดการประชุมวิชาการ ประชุมเชิงปฏิบัติการ ของสาขาต่างๆในอายุรศาสตร์ทุกปี นับว่าเป็นการเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการที่ได้รับความสนใจจากแพทย์ทั่วไปเป็นอย่างมาก

ในปีการศึกษา 2529 ภาควิชาอายุรศาสตร์ ได้เปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (สาขาวิชาอายุรศาสตร์)และหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต (สาขาวิชาอายุรศาสตร์) ขึ้น หลักสูตรฯ ทั้งสองนี้จัดขึ้นเพื่อเสริมการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านต่อยอด แพทย์ที่ผ่านการอบรมครบ 2 ปี จะสมัครสอบเพื่อรับวุฒิบัตรความรู้ความชำนาญวิชาชีพเวชกรรม สาขาวิชาอายุรศาสตร์ต่อยอด (Sub-Specialty Board) จากแพทยสภา ปัจจุบันมีผู้เข้าศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต ประมาณ 25-33 คนต่อปี และหลักสูตรวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต ประมาณ 1 คนต่อปี

ในปี พ.ศ. 2543 ได้ดำเนินการรวมแพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์ทั่วไป 24 ตำแหน่ง แพทย์ประจำบ้านโครงการร่วม จุฬาฯ-ชลบุรี 8 ตำแหน่ง โครงการร่วม จุฬาฯ-จันทบุรี 4 ตำแหน่ง รวมเป็น 36 ตำแหน่ง ให้เป็นหลักสูตรเดียวกัน โดยจัดให้เข้ารับการฝึกอบรม ณ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเวลา 10 เดือน และไปฝึกอบรม ณ จันทบุรี ชลบุรี อีก 2 เดือน ในปีที่ 1 และ 3 ทั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการฝึกอบรมของโครงการร่วมให้มีประสิทธิภาพและได้รับความนิยมมากขึ้น เป็นผลให้ตำแหน่งโครงการร่วม ซึ่งแต่เดิม มี ผู้สมัครฝึกอบรมน้อย มีผู้เข้าฝึกอบรมเต็มทุกปี และเพิ่มเป็นทั้งหมด 43 ตำแหน่ง ในปีการศึกษา 2548

ปีการศึกษา พ.ศ. 2545 ได้เปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตทางการแพทย์คลินิกชั้นสูง สาขาอายุรศาสตร์ ประสาทวิทยา โลหิตวิทยา ตจวิทยา เพื่อครอบคลุมการเรียนการสอนของแพทย์ประจำบ้าน

ในปี พ.ศ. 2545 ได้ปรับปรุงการเรียนการสอน นิสิตแพทย์ปีที่4 และปีที่ 5 ให้มีภาคปฏิบัติมากขึ้น ลดชั่วโมงการบรรยายลง ปรับปรุงหลักสูตร เนื้อหาวิชาและให้มีการปฏิบัติงานร่วมกับแพทย์ประจำบ้านมากขึ้น ปรับสัดส่วนนิสิตต่ออาจารย์ที่สอนให้มีจำนวน นิสิต ต่ออาจารย์น้อยลง มีการเรียนการสอน แบบผู้ป่วยนอกมากขึ้น และมีการประเมินนิสิตอย่างต่อเนื่อง

ในปี พ.ศ.2545 ได้จัดอบรมวิชาการระยะสั้น เพิ่มเป็น 2 ครั้ง โดยในเดือนมิถุนายน ได้จัดร่วมกับการประชุมประจำปีของคณะแพทยศาสตร์ ในในกลางเดือนสิงหาคม เป็นการอบรมวิชาการของภาควิชาอายุรศาสตร์

ในปี พ.ศ.2548 ได้เปิดการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านต่อยอดสาขาโรคลมชัก สาขาโรคหลอดเลือดสมองฯ ซึ่งเป็นสาขาต่อยอด ของสาขาวิชาประสาทวิทยา เพื่อรับประกาศนียบัตรของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์

ในปี พ.ศ.2551ได้เปิดการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านต่อยอดสาขาย่อยโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ ของสาขาประสาทวิทยา เพื่อรับประกาศนียบัตรของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์

ด้านการบริหารจัดการภายในภาควิชาอายุรศาสตร์ ในระยะแรกแบ่งเป็นระบบใหญ่เพื่อให้เกิดความสะดวกในด้านการรักษาพยาบาล และการสอนนิสิต โดยแบ่งออกเป็น โรคหัวใจ โรคผิวหนัง โรคทางเดินหายใจ โรคทางประสาทวิทยา โรคทางอายุรศาสตร์เขตร้อน โรคต่อมไร้ท่อ และโรคทางโลหิต สำหรับโรคที่ยังไม่ได้แบ่งเป็นระบบจะร่วมอยู่ในโรคอายุรศาสตร์ทั่วไป

ภาควิชาอายุรศาสตร์ได้ปรับปรุงหลักสูตร อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เหมาะสมกับการพัฒนาทางการแพทย์ ความก้าวหน้าทางการวิจัย รวมทั้งการเปลี่ยนทางด้านสังคม และวิธีการเรียนการสอนที่เน้นการเรียนรู้ด้วยตนเอง ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรในปี พ.ศ. 2538 , พ.ศ.2542 และปรับปรุงหลักสูตร ให้สอดคล้องกับหลักสูตรคณะ ที่มีการเปลี่ยนแปลงในปี พ.ศ. 2545

ในปี พ.ศ.2546 ได้เริ่มปรับการเรียนการสอนจากเดิม ที่มีการสอนในแง่ลึก ของสาขาวิชาต่างๆ ให้เริ่มมีการเรียนการสอนในด้านกว้างเพิ่มเติมขึ้นได้แก่ เวชศาสตร์ฉุกเฉิน(Emergency Medicine) เวชศาสตร์ผู้ป่วยนอก( Ambulatory Medicine) , เวชศาสตร์การปรึกษาทางอายุรศาสตร์ระหว่างภาควิชา( Interdepartment Consultation Medicine )

ในปี พ.ศ.2548 ได้รวมเอาสาขาเวชศาสตร์ผู้ป่วยนอก และสาขาเวชศาสตร์การปรึกษาทางอายุรศาสตร์เข้าไว้ด้วยกัน เป็นสาขาอายุรศาสตร์ปริหัตถการและผู้ป่วยนอก (Perioperative and Ambulatory)

ในปี พ.ศ.2549 ได้เปิดเพิ่มอีกหนึ่งสาขาวิชาได้แก่สาขา เวชศาสตร์พันธุกรรม (Genetic)

ในปี พ.ศ.2560 ได้เปิดเพิ่มอีกหนึ่งสาขาวิชาได้แก่สาขา อายุรศาสตร์ทั่วไป (General Medicine) และ ในปี 2564 ได้เปิดเพิ่มอีกหนึ่งสาขาวิชาได้แก่ สาขาอายุรศาสตร์เวชบำบัดวิกฤติ( Critical Care Medicine )

จนกระทั่งถึงในปัจจุบันนี้ ได้มีการแบ่งหน่วยงานย่อยโดยเรียกเป็น “สาขาวิชา” ภายในภาควิชาอายุรศาสตร์ จำแนกออกเป็น 21 สาขาวิชา ดังนี้

  1. สาขาวิชาโรคหัวใจและหลอดเลือด (Division of Cardiovascular Disease)
  2. สาขาวิชาอายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจ และภาวะวิกฤติโรคระบบการหายใจ (Division of Pulmonary Disease and Pulmonary Critical Care)
  3. สาขาวิชาโลหิตวิทยา (Division of Hematology)
  4. สาขาวิชาโรคทางเดินอาหาร (Division of Gastoenterology)
  5. สาขาวิชาโรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม (Division of Endocrinology and Metabolism)
  6. สาขาวิชาตจวิทยา (Division of Dermatology)
  7. สาขาวิชาโรคไต (Division of Nephrology)
  8. สาขาวิชาโรคติดเชื้อ (Division of Infectious Diseases)
  9. สาขาวิชาประสาทวิทยา (Division of Neurology)
  10. สาขาวิชาโรคข้อและรูมาติสซั่ม (Division of Rheumatology)
  11. สาขาวิชาโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันทางคลินิก (Division of Allergy and Clinical Immunology)
  12. สาขาวิชาระบาดวิทยาคลินิก (Division of Clinical Epidemiology)
  13. สาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ (Division of Geriatric Medicine)
  14. สาขาวิชาโภชนาการคลินิก (Division of Clinical Nurtition)
  15. สาขาวิชาโรคมะเร็ง (Division of Oncology)
  16. สาขาวิชาพิษวิทยา (Division of Toxicology)
  17. สาขาวิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน (Division of Emergency Medicine)
  18. สาขาวิชาอายุรศาสตร์ปริหัตถการและผู้ป่วยนอก (Division of Perioperative and ambulatory)
  19. สาขาวิชาเวชพันธุศาสตร์และจีโนมิกส์ (Division of Medical Genetics and Genomics)
  20. สาขาวิชาอายุรศาสตร์ทั่วไป (Division of General Internal Medicine)
  21. สาขาวิชาอายุรศาสตร์เวชบำบัดวิกฤติ (Division of Critical Care Medicine)

Quick Links

Copyrights © 2019 CUMEDICINE. All rights reserved.